วันพุธ ที่ 7 สิงหาคม 2567 ดร.พัชรกันย์ เมธาอัครเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักการคลังและสินทรัพย์ เป็นประธานเปิด “โครงการฝึกอบรมการใช้งานโปรแกรมทะเบียนคุมทรัพย์สินสำหรับหน่วยงานในสังกัด สพฐ.” ณ โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จังหวัดนครพนม
เนื่องจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 112 – 113การบริหารพัสดุ บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการควบคุมและดูแลพัสดุให้มีการใช้และการบริหารพัสดุที่เหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งรวมถึงการเก็บ การบันทึก การเบิกจ่าย การยืม การตรวจสอบ การบำรุงรักษา และการจำหน่ายพัสดุ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด รวมถึงระเบีย กระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 203 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ได้รับมอบพัสดุแล้วให้ดำเนินการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ รวมถึงการตรวจสอบพัสดุคงเหลือประจำปี การจำหน่ายพัสดุ และการรับรู้ทางบัญชีสินทรัพย์ ซึ่งการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินจะมีผลต่อการยกยอดสินทรัพย์เข้าสู่ระบบ New GFMIS Thai สำนักการคลังและสินทรัพย์ได้เล็งเห็นความสำคัญของข้อมูลดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำโปรแกรมทะเบียนคุมทรัพย์สินสำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ สถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักส่วนกลาง โดยกำหนดให้มีรายละเอียดของรายการครุภัณฑ์ อาคาร ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของหน่วยงานภายในสังกัด อย่างครบถ้วนถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และสามารถตรวจสอบได้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนเป็นนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงานด้านการเงินการคลัง จึงได้กำหนด “โครงการฝึกอบรมการใช้งานโปรแกรมทะเบียนคุมทรัพย์สินสำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ” ระหว่างวันที่ 6 – 9 สิงหาคม 2567 ณ โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จังหวัดนครพนม ให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุโดยขยายผลไปสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา(หน่วยงานการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวได้รับความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สิน เช่น กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงการปฏิบัติงานในโปรแกรมทะเบียนคุมทรัพย์สินสำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้การบริหารจัดการด้านการเงินการคลังของหน่วยงานมีประสิทธิภาพมีฐานข้อมูลที่โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ สอดคล้องกับนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2567 ข้อ 3. ปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ ทันสมัย และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ